การเขียนงานวิชาการในหลักสูตร LL.M. ที่มหาวิทยาลัยบอนน์

      ตอนนี้ผมก็สอบทุกวิชาในเทอม 2 หมดเรียบร้อยแล้ว ก็เลยมีเวลามานั่งเขียนเรื่องการเรียนปริญญาโททางด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยบอนน์ต่อครับ เทอม 2 นี้ ผมก็เรียน 3 วิชา ได้แต่ กฎหมายพลังงาน 1 กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อย และกฎหมายวิธิพิจารณาคดีรัฐธรรมนูญ แต่ลงสอบแค่ 2 วิชาคือ กฎหมายพลังงาน กับกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ที่พิเศษในเทอมนี้ คือ ต้องมีการทำงานวิชาการ 1 ชิ้น หรือรายงานที่เรียกกันในภาษาเยอรมันว่า Seminararbeit ก็เลยอยากจะเอามาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับขั้นตอนการเขียนงานที่มหาวิทยาลัยบอนน์
      
      ก่อนที่จะเริ่มต้นเขียนสัมมนา เราจะต้องเลือกหัวข้อสัมมนาที่สัมพันธ์กับสาขาที่เราเรียนและไปในแนวทางเดียวกับเรื่องที่คาดว่าจะทำวิทยานิพนธ์ด้วย เช่น ผมอยากทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับกฎหมายปกครองและกฎหมายข้ารัฐการ ผมก็ทำสัมมนาเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของข้ารัฐการเยอรมัน พอได้หัวข้อแล้ว เราก็ต้องรอให้มี Professor ประกาศผ่านทางหน้าเว็บของคณะว่า มีอาจารย์ท่านใดรับทำหัวข้อไหนบ้าง อย่างกรณีของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็จัดอยู่ในสาขากฎหมายว่าด้วยรัฐ (สิทธิขั้นพื้นฐาน) ก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งรับทำ แม้ว่ากฎหมายว่าด้วยรัฐจะไม่ถูกจัดให้เป็นกฎหมายปกครองซึ่งเป็นสาขาที่ผมเรียนก็ตาม แต่ก็สามารถให้ทางสถาบันของอาจารย์ไปคุยกับสำนักทะเบียนได้ว่าให้นับเป็นกฎหมายปกครองได้หรือไม่ เพราะกฎหมายข้ารัฐการนั้นเป็นทั้งกฎหมายปกครองและกฎหมายว่าด้วยรัฐ ปัญหาเรื่องทำสัมมนาไม่ตรงสาขาที่เรียนก็หมดไป (หากมีผู้เรียนท่านใดมีปัญหาเช่นนี้ก็ให้ทำการติดต่อทางอาจารย์เพื่อหาหนทางแก้ไข หรือ ก่อนเริ่มเขียนสัมมนาอาจจะติดต่ออาจารย์ที่เชี่ยวชาญในสาขาของเราเป็นกรณีพิเศษเพื่อขอให้ท่านรับเขียนสัมมนาด้วย) 
      
      หลังจากอาจารย์ประกาศรับทำสัมมนาแล้ว ก็จะมีการนัดหมายเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับหัวข้อคร่าว ๆ ว่านักศึกษาคนไหนจะทำหัวข้อไหนบ้าง และอาจารย์ก็จะพิจารณาว่าจะรับทำได้หรือไม่ หลังจากเราได้ลงทะเบียนเขียนสัมมนาแล้วก็เป็นอันผูกพันตัวเราว่าจะต้องเขียนสัมมนา ซึ่งระยะเวลาในการเขียนนั้นก็แตกต่างกันไปแล้วแต่อาจารย์แต่ละคนจะกำหนด อย่างของผมมีเวลาเขียนนานมาก หากนับจากสอบเสร็จ ก็ตั้งแต่ ช่วงปลาย ๆ เดือนสิงหาคมไปจนถึงวันที่ 1 มกราคม ซึ่งรวมช่วงปิดเทอมด้วย โดยผมเขียนได้ทั้งหมด 18 หน้า ปกติก็เขียนกัน 15 - 25 หน้า

      ในช่วงขั้นตอนการเขียนนั้นก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนพอสมควร เพราะต้องทำตามรูปแบบของนักศึกษาเยอรมัน ซึ่งผมไม่เคยพบการเขียนงานรูปแบบนี้มาก่อน เช่น ต้องเว้นหน้ากระดาษด้านซ้ายมา 7 ซม. เพื่อให้อาจารย์สามารถตรวจและเขียนข้อติติงได้ รวมถึงการอ้างอิงแบบเยอรมันก็ยากที่จะทำความเข้าใจอยู่บ้าง แต่ก็อาศัยดูรูปแบบการอ้างอิงจากหนังสือที่อ่าน เลยทำให้ผมสามารถอ้างอิงได้ตามรูปแบบอยู่บ้าง

      ในเรื่องของแหล่งข้อมูล มหาวิทยาลัยบอนน์นั้นก็นับว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีห้องสมุดที่ดี (อยู่บ้าง ) โดยจะมีห้องสมุดของมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำไรน์ ที่นั่นนักศึกษาสามารถยืมหนังสือออกมาอ่านที่บ้านได้ แต่ก็มีบ้างเล่มที่สามารถยืมออกมาได้แค่ที่ห้องอ่าน เพื่ออ่านหรือแสกนเท่านั้น ไม่สามารถยืมออกมาได้ ที่คณะเองก็มีห้องสมุดใหญ่อยู่อีกแห่งหนึ่ง หนังสือทั้งหมดไม่สามารถยืมออกมาได้ แต่นักศึกษาสามารนั่งทำงานในนั้นได้ตลอดวัน เพราะมีอินเตอร์เนตและที่นั่งเพียงพอสำหรับนักศึกษา นักศึกษาจึงสามารถ เดินไปหยิบหนังสือมาเพื่ออ้างอิงได้ค่อนข้างสะดวก นอกจากแหล่งข้อมูลในรูปแบบสิ่งพิมพ์แล้ว ยังมีแหล่งข้อมูลออนไลน์ เช่น Beck  Online เป็นแหล่งข้อมูลของสำนักพิมพ์หนังสือกฎหมายใหญ่ในเยอรมัน บนเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์นี้นักศึกษาสามารถเข้าถึงหนังสือออนไลน์ วารสารออนไลน์ คำพิพากษาศาล ได้จากทั้งระบบอินเตอร์เนตของมหาวิทยาลัยและจากที่บ้าน และยังมี Juris das Rechtsportal ที่มีหนังสือบางเล่มที่ Beck ไม่มี เช่น Handbuch des Staatsrechts ซึ่งเป็นหนังสือที่แพงมาก แต่ Juris เอามาให้โหลดอ่านได้ฟรี การเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ทำให้บางครั้งก็ไม่ต้องก้าวออกจากบ้านไปหอบหนังสือมาจากห้องสมุดเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นข้อดีอย่างมากในการเขียนงานทางวิชาการ 

      หลังจากเขียนงานเสร็จและส่งเรียบร้อยแล้ว เราก็จะได้รับอีเมล์จากอาจารย์ว่าให้ไปทำการนำเสนองานสัมมนาของตัวเองในวันใด ซึ่งผมได้นำเสนอไปในวันที่ 12 มกราคม 2018 โดยในห้องก็มีคนเยอรมันเกือบทั้งหมด มีนักศึกษาปริญญาโท แค่ 4 คนเท่านั้น คะแนนที่ได้ก็ค่อนข้างน่าพอใจ โดยได้มา 10/18 คะแนน เรียกว่าเขียนงานชิ้นเดียวได้ใช้ทั้งทักษะการอ่าน การเขียน การฟัง และการพูดเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็ขอขอบคุณตาลที่คอยอดหลับอดนอนโทรคุยด้วยเป็นกำลังใจให้ในทุก ๆ วันตลอดมา
หากใครสนใจจะมาเรียนต่อด้านกฎหมายที่เยอรมนีก็มีหนังสือสำหรับแนะนำการเขียนงานให้ครับ ที่ผมใช้ก็ตามภาพครับ
เทอมหน้าจะเรียนกฎหมายปกครอง 2 ที่ว่าด้วยความรับผิดของรัฐ ทฤษฎีกฎหมาย นิติปรัชญา และกฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง เดี๋ยวจะเอามาเล่าให้ฟังอีกนะครับ

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลักสูตร LL.M. Master Deutsches Recht ณ มหาวิทยาลัยบอนน์

การสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยบอนน์

Gutachtenstil การเขียนตอบข้อสอบกฎหมายแบบเยอรมัน