หลักสูตร LL.M. Master Deutsches Recht ณ มหาวิทยาลัยบอนน์
![]() |
อาคารบริหารแห่งมหาวิทยาลัยบอนน์ |
ปี 2017
ผมได้เริ่มเข้าศึกษาในระดับชั้นปริญญาโททางด้านนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอนน์ในภาคการศึกษาฤดูร้อน
โดยได้เลือกแผนการศึกษาเน้นหนักไปทางด้านกฎหมายมหาชน
อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและเอกชนในฐานะที่รัฐมีอำนาจเหนือกว่า
จึงอยากจะบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรและมหาวิทยาลัยเก็บไว้เพื่อแบ่งปันให้กับผู้อื่นต่อไป
![]() |
Kirschblüten หรือเทศกาลดอกเชอรี่บานอันโด่งดังของเมืองบอนน์ |
เริ่มจากที่ตั้งของมหาวิทยาลัยเป็นอันดับแรก มหาวิทยาลัยบอนน์ มีชื่อเต็มๆ ว่า Die Rheinische Friedrich-Wilhelms-Universität Bonn ชื่อของมหาวิทยาลัยถูกตั้งตามชื่อของกษัตริย์ปรัสเซียนามว่า Friedrich
Wilhelm ที่สาม เมืองบอนน์ตั้งอยู่ในมลรัฐ Nordrhein-Westfalen
ที่อยู่ในฝั่งตะวันตกของเยอรมนีติดกับชายแดนเนเธอแลนด์
นักปรัชญาและนักการเมืองชาวเยอรมันหลายคนก็เคยได้มาศึกษาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้
เช่น นิชเช่ หรือ คาร์ล มาร์กซ หรือ คอนราด อเดเนาเออ
มหาวิทยาลัยบอนน์ไม่ได้มีอาคารเรียนที่ถูกจัดตั้งขึ้นเป็นCampusอย่างที่เราคุ้นชินกันในประเทศไทย
แต่อาคารของมหาวิทยาลัยจะอยู่อย่างกระจัดกระจายกันไป
บางอาคารอยู่ห่างจากตัวเมืองหลายกิโลเมตร
แต่สำหรับคณะนิติศาสตร์นั้นถือว่าโชคดี
เพราะตั้งอยู่ใกล้ๆกับตัวเมืองทำให้การเดินทางไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
![]() |
Zerfifikat C1 ของสถาบันเกอเธ่ |
การสมัครเรียน
ผู้สมัครต้องจบการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตที่มีระยะเวลาการศึกษาทั้งสิ้น 4 ปี
หรือ 8 ภาคการศึกษา หรือจบปริญญาตรีในระยะเวลา 3
ปีครึ่งแต่มีคุณวุฒิเพิ่มเติม เช่น ปริญญานิติศาสตรมหาบัณฑิต
หรือประกาศนียบัตรบัณฑิตทางกฎหมายที่สามารถเติมเต็มเวลาที่ขาดหายไปให้ครบหรือมากกว่า
4 ปี ได้ จึงจะมีสิทธิสมัครเรียนในหลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยบอนน์ได้
บรรดาหลักฐานการสมัครก็จะประกอบด้วย หลักฐานการสำเร็จการศึกษา
จดหมายแนะนำจากอาจารย์มหาวิทยาลัย 2 ฉบับ ประวัติส่วนตัว
ผลการสอบวัดความรู้ภาษาเยอรมันระดับ C1 ของสถาบันเกอเธ่ (เทียบเท่า Ielts
7) หรือ TestDaf 4 หรือ DSH 2 เป็นอย่างน้อย ซึ่งการสอบ 3
รูปแบบนี้เป็นการสอบที่นักศึกษาไทยนิยมสอบกันมาก
แต่ก็มีการสอบอื่นๆอีกที่เป็นที่ยอมรับ
รายละเอียดจะอยู่ในระเบียบการสมัครของมหาวิทยาลัย
หลักสูตรปริญญาโทนี้จะมีการเรียนการสอนทั้งในภาคการศึกษาฤดูหนาวและฤดูร้อน
ผู้สมัครสามารถเลือกได้ว่าต้องการที่จะศึกษาในภาคการศึกษาใด
ในเรื่องของแผนการศึกษา
หลักสูตรปริญญาโทที่นี่อนุญาตให้เราสามารถเลือกเรียนกฎหมายด้านที่เราสนใจได้
1 ด้านจาก 3 ด้าน คือ กฎหมายเอกชน กฎหมายมหาชน และกฎหมายอาญา
ทำให้เราสามารถเจาะลึกเพื่อศึกษาเฉพาะกฎหมายด้านที่เราต้องการศึกษาได้
จึงไม่ต้องกังวลว่าจะได้เรียนกฎหมายด้านที่ไม่ถนัด
ในส่วนของแผนการศึกษาด้านกฎหมายมหาชน
นักศึกษาสามารถเลือกที่จะศึกษาให้ลึกซึ้งได้ 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือ
กฎหมายปกครอง อีกด้านหนึ่งคือกฎหมายว่าด้วยรัฐ
โดยนักศึกษาจะสามารถเลือกได้แค่ด้านเดียว
ในภาคการศึกษาแรกนักศึกษาควรสอบวิชาพื้นฐานให้ผ่านให้หมด
จากนั้นในภาคการศึกษาที่ 2
นักศึกษาก็สามารถเลือกเรียนกฎหมายด้านที่สนใจได้อีก 2 วิชา
พร้อมด้วยการทำสัมมนาอีก 1 เรื่องในเรื่องที่สนใจ
การทำสัมมนาคือการเขียนบทความในเรื่องที่ตัวเองสนใจ เมื่อส่งสัมมนาแล้ว
ก็จะมีสิทธิเขียนวิทยานิพนธ์
ซึ่งการประเมินที่สำคัญที่สุดของหลักสูตรคือวิทยานิพนธ์ว่าจะได้สำเร็จการศึกษาในระดับพอใช้
ดี หรือดีมาก
ส่วนผลการสอบวิชาที่ศึกษามาเป็นเพียงส่วนประกอบเพื่อให้มีสิทธิเขียนวิทยานิพนธ์เท่านั้น
การสอบในวิชาต่างๆ จึงมีการสอบข้อเขียนก่อนเป็นอันดับแรก
หากสอบตกก็สามารถสอบซ่อมด้วยการสอบปากเปล่าได้
ในช่วงภาคการศึกษาแรกก็จะมีการดูแลจากมหาวิทยาลัยโดยจัดชั่วโมงการเรียนการสอนว่าด้วยระบบกฎหมายเยอรมันให้นักศึกษาต่างชาติโดยเฉพาะ
และจัดอบรมเกี่ยวกับการเขียนตอบข้อสอบ
รวมถึงการเขียนสัมมนาและวิทยานิพนธ์
การเรียนการสอนการเรียนการสอนก็จะประกอบด้วยชั่วโมงบรรยายและชั่วโมงทบทวน
(Arbeitsgemeinschaft) ชั่วโมงบรรยายนั้นจะมีระยะเวลาเพียง 2
ชั่วโมงต่อครั้งเท่านั้น ชั่วโมงทบทวนก็เช่นเดียวกัน
ในชั่วโมงบรรยายProfessor มักจะมีคำถามออกมาถามนักศึกษาเรื่อย ๆ
ซึ่งนักศึกษาชาวเยอรมันก็จะยกมือตอบกันบ่อย ๆ จะผิดหรือถูกไม่ว่ากัน
สำหรับชาวเอเชียอย่างเราก็อาจจะไม่คุ้นชินนัก เพราะเรามักจะถือคติที่ว่า
ก็เราไม่รู้ไงเราถึงต้องมาเข้าเรียน
แล้วมาถามอะไรในเรื่องที่เราไม่รู้กันเล่า
ปัดโถ่
แต่บางเรื่องที่เราเรียนมาจากไทยแล้วต้องมานั่งเรียนกับนักศึกษาปี 1
ของเยอรมัน พอฟังคำตอบของนักศึกษาเหล่านั้นแล้วเราก็อาจจะนึกขำๆในใจว่า
ฉันรู้นะว่าคำตอบคืออะไร แต่เรียบเรียงออกมาเป็นภาษาเยอรมันไม่ได้
ในชั่วโมงทบทวนก็จะมีการถกเถียงกันไปพร้อมๆกับการฝึกแก้ไขปัญหาในทางกฎหมายที่อาจปรากฏในข้อสอบ
ในช่วงแรกๆ
การฟังบรรยายอาจจะมีปัญหาบ้างเพราะไม่ชินกับคำศัพท์ในทางวิชาการ
และสำเนียงของผู้สอน แต่เมื่อฟังบ่อยๆเข้าก็จะทำให้เราปรับตัวได้เอง
ระยะเวลาการเรียนการสอนในภาคการศึกษาหนึ่งๆนั้นสั้นมาก เช่น
เปิดภาคการศึกษาในเดือนเมษายน ในช่วงเดือนกรกฎาคมก็ต้องสอบแล้ว
แต่ในการสอบนั้นเราสามารถนำตัวบทกฎหมายเข้าไปเปิดดูเพื่อใช้ในการตอบข้อสอบได้
ซึ่งแตกต่างจากระบบการสอบของไทย
![]() |
ตัวอย่างถ้อยคำหนังสือคำอธิบายเกี่ยวกับระบบกฎหมายเยอรมันอย่างง่ายจากหนังสือ Einführung in das deutsche Recht und die deutsche Rechtssprache |
ตำราอ่านประกอบการศึกษา วรรณกรรมทางกฎหมายที่ใช้ประกอบการเรียนที่นี่จะแบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่
Lehrbuch เป็นหนังสือคำอธิบายในทางทฤษฎีอย่างที่เราคุ้นเคยกันในการเรียนนิติศาสตร์ในไทย
Kommentar
เป็นคำอธิบายกฎหมายรายมาตราพร้อมตัวอย่างประกอบ
ใช้สำหรับการหาคำตอบของคำถามใดคำถามหนึ่งที่เราต้องการรู้อย่างเฉพาะเจาะจง
เช่น ความหมายของคำว่าที่อยู่อาศัยตามรัฐธรรมนูญ ว่ากินความถึงบริเวณใด
Zeitschrift วารสาร ก็คล้ายๆกับวารสารนิติศาสตร์ที่จะมีบทความในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
Handbuch เป็นคู่มือทางกฎหมายต่างๆที่ไว้ใช้
ในทางปฏิบัติ เช่น คู่มือกฎหมายแรงงาน
คุณวุฒิในระดับ LL.M. นั้นไม่เทียบเท่าการเป็นนักกฎหมายในเยอรมัน
นั่นหมายความว่าหลังจบการศึกษาเราไม่สามารถประกอบอาชีพเป็นนักกฎหมายในเยอรมนีได้
เพราะการที่เราจะประกอบอาชีพนักกฎหมายอย่างเต็มตัวนั้นจะต้องผ่าน
การสอบ
Staatsexamen I และ Staatsexamen II
ซึ่งจะต้องผ่านการเรียนที่มีระยะเวลานานกว่าและรายวิชาที่ต้องศึกษามากกว่าในระดับ
LL.M. และยังต้องผ่านการฝึกงาน ในองค์กรฝ่ายปกครอง องค์กรอัยการ ศาล
และสำนักงานทนายความอีกด้วย
ตัดเข้าสู่ช่วงโฆษณา XD เท่าที่สำรวจดูแล้ว หลายๆคนไม่อยากมาเรียนที่เยอรมนีเพราะเรื่องของภาษา ภาษาเยอรมันขึ้นชื่อได้ว่าเป็นภาษาที่ยากที่สุดภาษาหนึ่ง แต่จริงๆแล้วภาษาเยอรมันไม่ได้ยากจนเรียนไม่ได้หรือเข้าใจไม่ได้ ผมเองก็เรียนภาษาเยอรมันได้ไม่นาน ผมเริ่มเรียนกับ CPG ก็เมื่อตอนรู้ตัวว่าได้ทุน ก็เรียนแค่สัปดาห์ละ 2 วัน วันละ 3 ชั่วโมง ก็เรียนแค่ 2 เทอม หลังเรียนจบก็ไปเรียนกับเกอเธ่อีก 1 เดือน จนจบระดับ A1 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุด พอเข้าทำงานผมก็เริ่มเรียนระดับ A2 ซึ่งก็เรียนแค่สัปดาห์ละ 1 วัน 3 ชั่วโมงเท่านั้น ก็เรียนไปจนถึงระดับ B1.3 ก็เดินทางมาศึกษาต่อ เชื่อไหมว่า ผมมาเริ่มเรียนภาษาเยอรมันที่สถาบันเกอเธ่ประจำเมืองบอนน์ที่ระดับ A2.2 ซึ่งเกือบจะเท่ากับการเริ่มใหม่ ในระยะเวลา 1 ปีที่เรียนอยู่ ผมก็ไต่ระดับไปเรื่อย ๆ จนถึงระดับ C1 จนสอบผ่านได้ และฟังการบรรยายในห้องรู้เรื่อง (ถึงจะไม่ทั้งหมดก็เถอะ -*-) กฎหมายเยอรมันหลายๆเรื่องน่าสนใจมาก และหลายเรื่องเป็นสิ่งที่ควรมีในไทยแต่็ยังไม่มีสักทีเพราะยังไม่มีคนมาศึกษาจริงจัง ถ้าสนใจระบบกฎหมายเยอรมันก็สอบถามได้เสมอนะ
นิติกร ชัยวิเศษ
Nitikorn Chaiwiset
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น