ระบอบการปกครองของนาซีเยอรมัน

ก่อนจะมาเรียนที่เยอรมนี แม้ว่าผมจะมีความรู้เกี่ยวกับการปกครองของนาซีเยอรมันอยู่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถเข้าใจได้ว่าการปกครองของนาซีนั้นมันแตกต่างจากระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอย่างไร และไม่สามารถทำความเข้าใจได้ไกลกว่านั้น แต่พอมาเรียนที่นี่ ทำให้สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้มากขึ้นทำให้เข้าใจความแตกต่างระหว่างเผด็จการโดยทั่วไปกับนาซีเยอรมันมากขึ้น ก็เลยคิดว่าเอามาแปลและเผยแพร่เพื่อสร้างความเข้าใจให้คนทั่วไปน่าจะเป็นการดี
ข้อเขียนนี้แปลมาจากหนังสือ Verfassungsgeschichte, Fortscher/Pierot, 15 Auflage และ Deutsche Verfassungsgeshichte , Dietma Willoweit, 5 Auflage

 ลำดับเหตุการณ์

 ก่อนอื่นต้องไล่ลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของฮิตเลอร์เสียก่อน
30 มกราคม ปี 1933 ฮิตเลอร์ได้รับการแต่งตั้งจากประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าฮิตเลอร์ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งจนได้รับเลือกจากรัฐสภาให้เป็นนายรัฐมนตรี เพราะก่อนหน้านั้นระบบรัฐสภาถูกทำลายลงด้วยอำนาจการยุบสภาของประธานาธิบดี ทำให้รัฐบาลไม่ขึ้นกับรัฐสภาแต่กลับไปขึ้นกับประธานาธิบดีแทน ประธานาธิบดีจึงกลายเป็นเสมือน "ตัวแทนของจักรพรรดิ" ในสมัยอาณาจักรเยอรมันก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1
27 กุมภาพันธ์ 1933 ประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กออกรัฐกฤษฎีกาไฟไหม้ไรส์ทาก (Reichstagbrandverornung) ที่มีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพและทำให้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐไวมาร์บางมาตราสิ้นผลบังคับ
24 มีนาคม 1933 กฎหมายมอบอำนาจให้รัฐบาลสามารถออกกฎหมายได้เอง
1 สิงหาคม 1934 กฎหมายกำหนดให้ตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีรวมกันเป็นหนึ่งเดียวโดยผ่านการลงประชามติ ซึ่งก่อนหน้านั้นพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามและคนที่คิดต่างจากพรรคนาซีต่างก็ถูกนำเข้าสู่กระบวนการ "ให้ความคุ้มครอง" โดยผลของรัฐกฤษฎีกาไฟไหม้ไรส์ทาก
2 สิงหาคม 1934 ประธานาธิบดีฮินเดนบวร์กตาย
หลังจากนั้นช่วงเวลาของระบอบการปกครองแบบนาซีก็เริ่มขึ้น

 หลักการปกครอง

หลักการในการปกครองของนาซีจะประกอบด้วย 2 หลักการคือ หลักการผู้นำกับหลักการการเหยียดชาติพันธ์ุ และลักษณะภายนอกของมนุษย์

หลักการผู้นำ (Führerprinzip)

หลักการผู้นำหมายความถึงอำนาจอันอยู่เหนือรัฐธรรมนูญของผู้นำ (verfassungstranszendente Gewalt) และบางคนก็ตีความไปว่าผู้นำนั้นคือคนที่พระเจ้าเลือกและส่งลงมา ลักษณะพิเศษที่เห็นได้ชัดของหลักการผู้นำ คือ การให้คำสาบานของข้ารัฐการและทหาร ข้ารัฐการและทหารจะไม่ได้ให้คำสาบานต่อประมุขของรัฐ ต่อรัฐธรรมนูญ แต่จะให้คำสาบานต่อตัวอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้เดียวเท่านั้น และตัวผู้นำไม่ผูกพันต่อกฎหมายใดๆ

หลักการเหยียด (Rassenideologie)

หลักการเหยียดนี้ไม่ได้เหยียดเฉพาะชาวยิวหรือชาติพันธ์ุอื่นๆในโลก ชาวเยอรมันเองก็โดนเหยียดหากมีคุณลักษณะไม่ตรงกับที่ระบอบนาซีกำหนด คนอ่อนแอ คนพิการ ฯลฯ จะถูกจัดเป็น "พวกสิ่งมีชีวิตอันด้อยค่า (Lebensunterwertes Leben) " จริงๆความหมายในภาษาเยอรมันจะรุนแรงกว่าภาษาไทยมาก หลักการนี้มีไว้เพื่อรับใช้การคงอยู่ของสายเลือดอันบริสุทธิ์ของชาวเยอรมัน ชาวเยอรมันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงชาวเยอรมันเป็นคน ๆ แต่หมายถึงชาวเยอรมันที่เป็นหนึ่งเดียวกัน ดังนั้นสิทธิส่วนบุคคลก็ถูกยกเลิกไปด้วย หากขัดกับการรักษาความบริสุทธิ์ของสายเลือดนี้ สรุปให้เข้าใจง่ายขึ้นอีกนิดหนึ่ง คือ คนที่อยู่ในปัจจุบันไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการอยู่เพื่อสืบทอดสายเลือดนี้ต่อไปเท่านั้น ไม่ได้มีคุณค่าในฐานะที่เป็นมนุษย์ที่มีคุณค่าความเป็นมุนษย์

 วิธิการใช้อำนาจ

การปกครองของนาซีเยอรมันภายใต้ฮิตเลอร์นั้น การกระทำต่างๆ จะถูกดำเนินการผ่านกฎหมายทั้งสิ้น เพราะฮิตเลอร์ได้รับบทเรียนจากการพยายามใช้กำลังในการปฏิวัติที่ München ในปี 1923 จนต้องถูกจำคุก และในเดือนพฤศจิกายน ปี 1930 ฮิตเลอร์ได้ให้คำสาบานต่อศาลแห่งอาณาจักรไว้ว่า ในการต่อสู้ทางการเมืองของตนในภายภาคหน้า ตนเองจะดำเนินการภายใต้ข้อบังคับแห่งกฎหมายอย่างเคร่งครัดเท่านั้น แต่ก็ยังมีหน่วยงานที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายใดอย่างเช่น Gestapo อยู่ด้วย ซึ่งในส่วนนี้จะอธิบายในภายหลัง

การกระทำเพื่อทำลายชีวิตอันด้อยค่าและกฎหมายสำคัญ

1. กฎหมายว่าด้วยมรดกทางพันธุกรรม (Erbgesundheitsgesetz)

 กฎหมายนี้กำหนดว่าใครมีความเจ็บป่วยที่เป็นมรดกทางพันธุกรรมสามารถถูกบังคับให้ทำหมันได้ โดยความเจ็บป่วยทางพันธุกรรมนี้กฎหมายกำหนดไว้ 8 ประการ ได้แก่
1. คนที่อ่อนแอมาแต่กำเนิด
2. โรคจิตเภท
3. บ้า
4. โรคลมชัก
5. ระบบประสาทเสื่อม
6. ตาบอดแต่กำเนิด
7. หูหนวกแต่กำเนิด
8. รูปร่างผิดปกติแต่กำเนิด
คนเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังก็สามารถบังคับให้ทำหมันได้
นอกจากนี้ยังมีการเขียนขั้นตอนการดำเนินการไว้ในกฎหมาย มีการตั้งศาลมรดกทางพันธุกรรมอีกด้วย
ในช่วงแรก ๆ ของการประกาศใช้กฎหมายนี้มีคนถูกทำหมันไปราว ๆ 400,000 คน แต่ช่วงหลังปี 1939 คนที่มีลักษณะดังกล่าวจะถูกนำไปฆ่าทิ้ง

2. การไล่ล่าชาวยิว

 ชาวยิวถูกขับออกจากการเป็นพลเมืองของรัฐโดยกฎหมายว่าด้วยพลเมืองของอาณาจักร โดยกำหนดไว้ในรัฐกฤษฎีกาอย่างชัดเจนว่า "คนยิวนั้นไม่อาจเป็นพลเมืองของรัฐได้ (Ein Jude kann nicht Reichsbürger sein) แต่ชาวยิวเป็นอย่างไรนั้น กฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัด แต่ถูกตีความโดยใช้ความสัมพันธุ์ทางสายเลือด ถ้ามีบรรพบุรุษเป็นชาวยิวก็คือชาวยิว ต่อจากนั้นก็มีรัฐกฤษฎีกาตามออกมากำหนดให้ชาวยิวไม่อาจเป็นผู้ทรงสิทธิทางกฎหมายได้ ทำให้ชาวยิวนั้นไม่สามารถทำอะไรได้เลย
Ernst Rudolf Huber ได้เขียนบรรยายการสูญเสียความเป็นผู้ทรงสิทธิทางกฎหมายของชาวยิวไว้ว่า ชาวยิวนั้นไม่อาจสมรสกับชาวเยอรมันได้ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเยอรมันกับคนยิวมีโทษตามกฎหมาย ชาวยิวไม่อาจเป็นข้ารัฐการได้ ชาวยิวไม่สามารถเป็นทนายความได้ ชาวยิวไม่อาจเป็นหมอหรือพยาบาลได้ ชาวยิวไม่อาจเป็นชาวนาได้ ชาวยิวไม่อาจเป็นเศรษฐกรได้ ชาวยิวเปิดร้านยาไม่ได้ ชาวยิวไม่อาจค้าขายได้ ชาวยิวไม่อาจครอบครองทรัพย์สินมีค่าได้ ฯลฯ ชาวยิวจะทำได้ก็เฉพาะแต่การกระทำที่รัฐมนตรีมหาดไทยแห่งอาณาจักรอนุญาตเท่านั้น หลังจากนั้นก็มีเหตุการณ์ Reichskristallnacht ที่มีการทุบทำร้าย ปล้นร้านค้าของชาวยิว โดยที่ตำรวจรับรู้แต่ก็วางเฉย

3. การก่อตั้งตำรวจการเมือง

ตำรวจธรรมดาถูกทำให้เป็นตำรวจการเมือง หน้าที่ของตำรวจดั้งเดิมที่เป็นการป้องการอันตรายต่อความมั่นคงสาธารณะ ถูกตีความให้กว้างยิ่งขึ้น กลายเป็นการกระทำใดๆ ที่รบกวนหรือขัดแย้งกับการปกครองของระบอบนาซีก็ถือเป็นอันตรายต่อความมั่นคง เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจึงไม่มีอีกต่อไป จากนั้นก็ได้มีการตั้งตำรวจลับอย่าง Gestapa และ Gestapo ขึ้น Gestapo (Geheime Staatspolizei) นั้นไม่อยู่ภายใต้ความผูกพันต่อกฎหมายใด ๆ และจะใช้อำนาจอย่างไรก็ได้ ถ้าจะอธิบายให้เห็นภาพก็จะเป็นในลักษณะที่ว่า จำเลยได้รับการพิพากษาจากศาลว่าไม่ได้ทำความผิดตามกฎหมายใดๆของรัฐ และถูกปล่อยตัว แต่ที่หน้าประตูทางออกของศาลนั้นก็มีตำรวจลับยืนรอจำเลยอยู่ เพื่อนำตัวจำเลยไปที่ไหนสักที่ ซึ่งการปกครองของนาซีจะมีความเป็นรัฐซ้อนรัฐ มีรัฐที่ใช้กฎหมายในการดำเนินการผ่านศาล และมีรัฐในทางความเป็นจริงที่ดำเนินการโดยตำรวจลับ

ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคนาซีและรัฐ

พรรคการนาซีกับรัฐนั้นมีความสัมพันธ์ที่คลุมเครือต่อกัน Carl Schmidt ได้อธิบายว่า พรรคกับรัฐนั้นแตกต่างกันแต่ไม่แยกจากกัน เชื่อมโยงกันแต่ไม่รวมกัน กฎหมายเพื่อความมั่นคงแห่งความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างพรรคและรัฐกำหนดว่าพรรคเป็นผู้ถือข้อความคิดว่าด้วยรัฐเยอรมัน (ตรงนี้แปลงงๆ ไม่รู้จะแปลยังไงดี)

ข้ารัฐการและศาล

ข้ารัฐการที่เป็นชาวยิวและผู้เห็นต่างทางการเมืองถูกไล่ออกจนหมด ทั้งในส่วนงานต่างๆ และมหาวิทยาลัย ในส่วนของการศาล ความยุติธรรมนั้นต้องเป็นไปตามแนวทางของพรรคนาซี ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายก็เป็นเพียงแค่การทำตามความประสงค์ของผู้นำเท่านั้น (ความประสงค์ของผู้นำที่เป็นกฎหมายไม่จำเป็นต้องมีการประกาศให้ทราบก่อน) Herrmann Göring สมาชิกพรรคคนสำคัญได้เคยกล่าวไว้ว่า กฎหมายและความประสงค์ของผู้นำคือสิ่งเดียวกัน มีการตั้งศาลประชาชนสูงสุดขึ้น โดยมี Roland Freisler เป็นประธาน ผู้ที่ได้ชื่อว่าผู้พิพากษามือเปื้อนเลือด โทษประหารได้ถูกนำมาใช้บ่อยครั้งจนเป็นเรื่องปกติ การตีความกฎหมายเป็นไปอย่างผิดปกติ มีการใช้ถ้อยคำที่ความหมายไม่ชัดเจนมาตีความใหม่ จนผิดความหมายเดิมไปเสียสิ้น ในส่วนนี้นักกฎหมายมีส่วนอย่างมากในการสนับสนุนระบอบการปกครองของนาซีเยอรมัน ผู้ที่สร้างคำอธิบายหลักๆคงหนีไม่พ้น Carl Schmidt ที่สนับสนุนการกวาดล้างกลุ่ม SA ของ Röhm และนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามว่าเป็นการทำความยุติธรรมให้เป็นจริง

จะเห็นได้ว่า ระบอบนาซีเยอรมันนั้น มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการแทบทุกอย่าง ทำให้มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่ามีการกระทำใดเกิดขึ้นบ้างภายใต้ระบอบนี้ รวมทั้งอำนาจยังเป็นอำนาจเฉพาะตัวของฮิตเลอร์ และพรรคนาซี
ข้อเขียนนี้เป็นเพียงการอธิบายโครงสร้างการปกครองของระบอบนาซีเยอรมันอย่างคร่าว ๆ หากสนใจศึกษาต่อก็ต้องศึกษาฉบับเต็มจากหนังสือที่ผมแปลมา

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

หลักสูตร LL.M. Master Deutsches Recht ณ มหาวิทยาลัยบอนน์

การสอบปากเปล่าวิทยานิพนธ์ที่มหาวิทยาลัยบอนน์

Gutachtenstil การเขียนตอบข้อสอบกฎหมายแบบเยอรมัน